บิ๊กตลท.ชี้ตลาดหุ้นช่วงโค้งสุดท้ายของปี ผันผวน!!!

Categories :

Public : 10/06/2022

บิ๊กตลท.ชี้ตลาดหุ้นช่วงโค้งสุดท้ายของปี ผันผวนจากปัจจัยกดดันทั้งในและนอกประเทศ จับตาเศรษฐกิจสหรัฐ”ถดถอย”แท้จริงหรือไม่หลังขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง !  ย้ำท่าวมกลางวิกฤตมีโอกาส  เปิดหุ้นกลุ่มชนะตลาด

 ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยแนวโน้มการลงทุนตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ว่า  ยังเต็มไปด้วยความผันผวนจากปัจจัยกดดันโดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ได้ทำมาต่อเนื่องและขณะนี้เริ่มมีคำถามว่า  การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด สามารถดูแลเงินเฟ้อได้ไหม  ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงได้ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางเทคนิกและก็ต้องจับตาต่อไปว่าเศรษฐกิจของสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงๆหรือไม่เพราะหาก เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจริงก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเพราะจีดีพีของสหรัฐคิดเป็น1ใน4ของจีดีโลก

 “ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) สะท้อนมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐต้องการควบคุมเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในระดับเป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนเอง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลต่อสภาพคล่องและภาวะการเงินที่จะตึงตัว ต้นทุนการกู้ยืม  ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลง ซึ่งกระทบการฟื้นตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ต้องหันมาพึ่งการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นภายในประเทศมากขึ้น “ ดร. ศรพลกล่าว

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ค่าเงินในภูมิภาค ASEAN รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง แต่ใน 9 เดือนแรกปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยทั้งค่อนข้างมาก และ SET Index ยังมีความผันผวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่น ๆ แม้ว่าความไม่แน่นอนจากผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเร่งตัวขึ้น จึงเห็นการไหลเข้ามาซื้อสุทธิต่อเนื่องอีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีแรงส่งจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นหลังเปิดประเทศ

             เปิดโพยกลุ่มหุ้นชนะตลาดช่วง9เดือน 

 ดร.ศรพลกล่าวว่า ตลาดหุ้นช่วงเดือน ส.คและก.ย ผันผวน จากการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟดต่อเนื่องแต่ในขณะเดียวกันในส่วนของตลาดหุ้นไทยก็จะพบว่า ยังมีหุ้นและกลุ่มหุ้นที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่เดียวข้องกับการท่องที่ยวและส่งออก

 

  ดร.ภากร ปีตะธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า  ยังคงต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวพุ่งขึ้นและเป็นต้นเหตุให้เงินเฟ้อพุ่งตัวสูงขึ้น  ส่งผลกระทบให้การลงทุนอยู่ในภาวะผันผวน นักลงทุนก็ต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังและติดตามปัจจัยต่างๆอย่างใกล้ชิด

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นถือว่ายังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากความแข็งแกร่งของภาคเอกชนไทยที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งเป็นลักษณะนี้มากว่า 10-20 ปีแล้ว ส่วนการเมืองมีผลต่อน้อยทั้งต่อเศรษฐกิจและการลงทุนแต่หากเรามีการเมืองที่เข็มแข็งก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นแข็งแกร่งได้

 สำหรับในส่วนของบริษัทจดทะเบียน(บจ) ก็แข็งแกร่งจะเห็นว่าขณะนี้ทั้งรายได้และกำไรปรับตัวดีขึ้นมากกว่าช่วงก่อนโควิด19แล้ว แม้จะต้องเผชิญกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนแต่ จะเห็น ว่า บจ.มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต มีการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนในการทำธุรกิจ สนับสนุนให้ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น และจะเห็นว่า แม้รายได้จะไม่โตมากแต่ในส่วนของกำไรขั้นต้นนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าช่วงก่อนโควิด 19 แล้ว

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,589.51 จุด ปรับลดลง 3.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ 4.1%

SET Index ใน 9 เดือนแรกปี 2565 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มทรัพยากร

ในเดือนกันยายน 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 75,090 ล้านบาท ลดลง 25.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 9 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 81,816 ล้านบาท โดย   ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 24,279 ล้านบาท ทำให้ใน 9 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 146,465 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ในเดือนกันยายน 2565 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เจริญอุตสาหกรรม (CH) บมจ. ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BAREIT) โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2565 อยู่ยังในระดับต้น ๆ ของเอเชีย

Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 15.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.5 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.1 เท่า

อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 2.90% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.30%