ธพว. – ศศินทร์ ชี้ดัชนีเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 3 ขยับรับจับจ่ายฟื้น

Categories :

Public : 09/11/2022
ธพว. ร่วมกับ ศศินทร์ เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 3 และคาดการณ์อนาคตปรับเพิ่มขึ้น ตามกำลังซื้อ การใช้จ่ายในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ชี้ SMEs ควรตื่นตัวใช้ BCG Model ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน รับมือเงินเฟ้อ และราคาพลังงานพุ่ง ขณะที่ ธพว. พร้อมหนุนเต็มที่ พาเข้าถึงสินเชื่อ BCG Loan ควบคู่ช่วยพัฒนาผ่านโครงการ SME D Coach ให้คำปรึกษาใกล้ชิด หนุนเติบโตยั่งยืน
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มอบหมาย นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยในการแถลง “ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/2565 และคาดการณ์อนาคต” โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ว่า ภาพรวมผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุน และ SMEs สามารถปรับตัวทางธุรกิจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการทำตลาด การบริหารจัดการต้นทุน รองรับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ภาพรวมกำไรของผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบันต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เฉลี่ยประมาณ 21.94% โดยเฉพาะกลุ่มขนาดย่อม (Micro) และภาคบริการ ผลกำไรฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น
 
ดร.มยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจ SMEs จำนวน 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 56.82 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งอยู่ในระดับ 56.00 จากปัจจัยบวกกำลังซื้อและการจับจ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความกังวลต่อภาวะต้นทุนสูงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
 
แนวโน้มความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นว่าผลประกอบการและคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันส่งผลให้ปริมาณการผลิต และสภาพคล่องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ความกังวลจากภาวะต้นทุนสูงคลี่คลายลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม สัดส่วน SMEs ที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่ม หรือจ้างงานเพิ่มยังอยู่ในระดับต่ำ
ดร.มยุขพันธุ์ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า 97.60% ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต้นทุนค่าขนส่งและราคาวัตถุดิบ กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ซึ่งที่ผ่านมา กว่า 53.07% มีการปรับตัว ผ่านการขึ้นราคาสินค้าและบริการ ส่วน 36.48% บริหารจัดการลดต้นทุน ได้แก่ การหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทน หรือหา Supplier รายใหม่ รวมถึงลดขนาดและปริมาณ และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาระดับเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อันดับหนึ่ง คือ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลและค่าสาธารณูปโภค รองลงมา คือ การควบคุมราคาวัตถุดิบ และต้องการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม โดยผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงภาวะเงินเฟ้อ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาช่วยปรับปรุงลดต้นทุน หรือปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีแนวคิดนำ BCG Model มาใช้กับธุรกิจ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหรือบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ลดการปล่อยของเสียหรือมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม SMEs ที่นำแนวคิด BCG Model มาปรับใช้กับธุรกิจยังมีสัดส่วนน้อย หรือมีเพียง 2.6% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และประโยชน์ที่ได้รับจากการนำนโยบาย BCG Model ไปปรับใช้กับธุรกิจ และควรมีมาตรการเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มีการนำนโยบาย BCG Model ไปปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
 
นายโมกุล กล่าวว่า  ธพว. พร้อมสนับสนุน “เติมทุน” ด้วยสินเชื่อ BCG Loan วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท เงื่อนไขพิเศษดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี ผ่อนนานถึง 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี ควบคู่กับสนับสนุนด้าน “การพัฒนา” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการ “SME D Coach” จัดกิจกรรมเติมความรู้ และให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs