WEHมีลุ้นเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น หลัง ก.ล.ต.ให้ขายหุ้นกู้2พันล้านเปิดประตูสู่ตลาดทุน

Categories :

Public : 10/19/2022
   

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH    บริษัทประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่นเป็นหลัก มุ่งเน้นในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง และบริหารจัดการโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 717 เมกะวัตต์ โครงการทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทย่อยแต่ละแห่งในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ กระแสไฟฟ้าที่กลุ่มบริษัทผลิตได้ทั้งหมดถูกจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ("กฟผ.") ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement : PPA) ซึ่งทุกโครงการได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชน์ (Commercial Operation Date : COD) ให้กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 สำหรับ WEH    ถือว่าเป็นผู้นำ " โรงไฟฟ้าพลังงานลม" และถ้าหากดูรายได้และผลดำเนินถือว่าเป็นบริษัทมีมีการเติบโตที่ดีมาก และบริษัทมี   เป้าหมายการเติบโตต่อเนื่อง ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ โต   5-7%  หรือจะแตะ 12,000 ล้านบาท

   ในแง่ของภาพลักษณธ์และชื่อเสียงของ WEHที่ผ่านมานั้นก็ต้องยอมรับว่า ไม่ค่อยสู้ดีนัก จากคดีความและการฟ้องร้องต่างๆ ระหว่างผู้ถือหุ้น เกิดขึ้นต่อเนื่องและกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   แต่บริษัทก็ยังมีความหวังว่า ในอีก 2-3ปีข้างหน้าจะสามารถเข้าระดมทุนได้

"  เชื่อข้อพิพาทและคดีความคลี่คลายภายในสิ้นปีหน้า หลังจากนั้นพร้อมเดินตามแผน นำบริษัทเข้าตลาดฯในปี 67-68 ลั่นพร้อมสร้างการเติบโตต่อเนื่อง รักษาความสามารถทำกำไร 40-50% ต่อปี วางแผนขยายกำลังการผลิต COD พลังงานลม แตะ 1,500 MW ใน 5 ปี และลงทุนธุรกิจ Non-Energy เช่น Healthcare & Wellness ผ่าน "ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้งส์"  ตลอดจนรุกธุรกิจใหม่ศักยภาพสูงขึ้นทั้งใน-ต่างประเทศ   "  นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ให้สัมภาษณ์

  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH  กล่าวว่า ขณะนี้ WEH อยู่ระหว่างการดำเนินการขายหุ้นกู้  ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 6.75 ต่อปี เสนอขายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ให้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนศึกษาความพร้อมการขยายแผนธุรกิจพลังงานและลงทุนในธุรกิจอื่นๆ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน คาดจองซื้อวันที่ 25-27 ต.ค.65 และออกขาย 28 ต.ค. 65  ซึ่งขณะนี้จะการเซอร์เวย์ความต้องการของผู้ลงทุนนั้นได้รับการตอบรับที่ดี เพราะ หุ้นกู้อายุไม่ยาวและให้ผลตอบแทนดีและในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นผู้ลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ทัน

 

"การออกหุ้นกู้ครั้งนี้บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) และในหนังสือชี้ชวนเราได้ระบุข้อมูลทั้งหมดของข้อพิพาทและความคืบหน้าคดีต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อมูลด้านผลดำเนินงานธุรกิจและการจัดการต่างๆ ซึ่งการที่สำนักงานกลต .อนุมัติและให้ความเห็นชอบ ก็เป็นเหมือนการเปิดประตูให้บริษัทได้ก้าวสู่ตลาดทุน และผมพร้อมที่ปฏิบัติทุกอย่างด้วยความโปร่งใส จัดการตามกฎเกณฑ์ ทั้งหมด และเมื่อถึงเวลาก็มั่นใจว่า เราจะสามารถเข้าระดมทุนและเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ)ได้ " 

       

สำหรับข้อพิพาทต่างๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล หรืออนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะข้อพิพาทระหว่างครอบครัวของอดีตกรรมการบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และกรณีการโอนหุ้นไปยัง Golden Music Limited (GML) ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนของการนัดพิจารณาเพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาของกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด โดยคาดว่าข้อพิพาทดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในช่วงปลายปี 66

ส่วนกรณีที่ศาลสั่งให้ระงับเงินปันผลมีแค่กลุ่มเดียว คือ Golden Music นอกนั้นได้ดำเนินการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่ถูกโต้แย้งในคดีนี้ ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เหลือมีความเห็นไปในทางเดียวกัน ถ้าจะมีการพิจารณาวาระต่างๆ จะได้ดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ก็มีคดีที่ WTB ซึ่งเป็นบริษัทย่อยถูกฟ้องให้หยุดประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและรื้อถอนต้นเสากังหันลมออกจากพื้นที่ รวมทั้งให้ WTB และผู้ถูกฟ้องคดีรายอื่น เยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการยื่นคำให้การเพิ่มเติมโดยผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งบริษัทฯ และ WTB เห็นว่า WTB มีสิทธิที่จะประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าได้ต่อไป โดยปัจจุบันผู้ฟ้องคดีจำนวนประมาณกึ่งหนึ่งได้ถอนฟ้องคดีไปแล้ว

อีกทั้งเชื่อว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โครงสร้างการบริหารและการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากการดำเนินกิจการการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมภายหลังจากที่บริษัทในเครือต่าง ๆของบริษัทฯ ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงผู้รับจ้างดูแลบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการดังกล่าวได้ในลักษณะของการเป็นการดำเนินธุรกิจปกติ (Operation) ตามมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีของการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม

 

นายณัฐพศิน กล่าวว่า บริษัทจะยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยแผนธุรกิจในช่วง3-5 ปี ต่อจากนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดกำลังการผลิตรวม COD จากพลังงานลม ให้แตะระดับ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมถึงมองหาโอกาสการลงทุนที่ดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตั้งเป้ามีรายได้เติบโตแตะ 15,000 ล้านบาท ภายในปี 2568

 " เราวางแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยเตรียมความพร้อมยื่นประมูลโครงการพลังงานลม 9 โครงการ กำลังการผลิต 810 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ยื่นประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้ ด้วยความพร้อมที่บริษัทมีในปัจจุบัน ทั้งด้านเงินทุน จากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้งความพร้อมทางด้านบุคลากรมากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานทดแทน เชื่อว่าจะส่งผลให้บริษัทสามารถประมูลงานดังกล่าวได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม" นายณัฐพศิน กล่าว

     ขยายลงทุน Non-Energ  อนาคตหวังมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 10-15% 

นอกจากนี้  บริษัทเริ่มขยายธุรกิจนอกเหนือจากพลังงานลมไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ( Non-Energy)ได้แก่ ด้านสุขภาพและความงาม โดยบริษัทเข้าไปลงทุนในบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัท)

นอกจากนี้ ยังมีแผนศึกษาธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อาทิ ประเทศเวียดนาม กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรปตะวันออก ที่สามารถกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้บริษัทคาดหวังว่าอนาคตสัดส่วนรายได้และกำไรจากธุรกิจ

Non-Energ  จะเข้ามามีสัดส่วนประมาณ 10-15%จากปัจจุบันจะอยู่ที่ 2-5%ซึ่งการขยายการลงทุนออกสู่ธุรกิจนอกพลังงานก็จะทำให้โครงสร้างรายได้ของบริษัทมีเสถียรภาพขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายหุ้นกู้นั้น บริษัทก็จะนำมาใช้ในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆด้วย โดย เงินหุ้นกู้ 2,000ล้านบาท ประมาณ 400ล้านเพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ ประมาณ 900-1000ล้านจะใช้ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าและอีกประมาณ 600ล้านบาทจะเป็นทุนหมุนเวียน 

 

 โดยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 5,100 ล้านบาท รายได้จากการขายไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปริมาณลมลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนรายได้อื่นสูงกว่าปีที่แล้ว มาจากกำไรจากเงินลงทุนในระยะสั้นที่ยังไม่รับรู้ 470 ล้านบาท ส่วนในด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆนั้นลดลง 110 ล้านบาท หรือ 13% และสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ถึง 4,900 ล้านบาท ช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซั่นของทุกปี อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากราคาค่าไฟของปี 2565 ที่ปรับสูงขึ้น จากค่า Ft ที่ประกาศจาก EGAT สูงขึ้นประมาณ 6% จากปีก่อน