ธ.ก.ส.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ยังคงดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยเกษตรกร

Categories : Update News, Finance

Public : 10/06/2022
ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุดร้อยละ 0.20 ต่อปี สนับสนุนการออม โดยยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตรต่อไป เพื่อลดภาระให้กับลูกค้าในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมวางแนวทางดูแลเกษตรกรแบบครบวงจร ผ่านมาตรการดูแลภาระหนี้สินเดิม การรักษาประวัติลูกค้าในการชำระหนี้ การเติมสินเชื่อใหม่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและลงทุนธุรกิจ     นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. สนับสนุนการออมเกษตรกรด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ร้อยละ 0.10 – 0.20 ประกอบด้วย ลูกค้าทั่วไปที่มีบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน และ 24 เดือน ปรับขึ้นจากร้อยละ 0.90 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้นจากร้อยละ 0.90 เป็นร้อยละ 1.10 ต่อปี และลูกค้านิติบุคคล ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน และ 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นจากร้อยละ 0.38 เป็นร้อยละ 0.48 ต่อปีและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้นจากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.70 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. ยังคงตรึง ทั้งอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ไว้ให้นานที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตร ให้มีกำลังในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19     นอกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและการตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการจูงใจให้ลูกค้ารักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีไว้ โดยดูแลในเรื่องผลตอบแทน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่คิดตามชั้นลูกค้าและการคืนเงินดอกเบี้ยเพื่อแบ่งเบาภาระผ่านโครงการชำระดีมีคืน Plus จำนวน 3,000 ล้านบาท ให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2566 การดูแลภาระหนี้สินเดิมเพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่จะช่วยเหลือภาระทางการเงินและเป็นไปตามศักยภาพของเกษตรกร เช่น มาตรการจ่ายดอกตัดต้นเพื่อลดภาระหนี้ การไกล่เกลี่ยหนี้ การจัดทำคลินิกหมอหนี้เพื่อลดหนี้ครัวเรือน การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) และด้านดิจิทัล (Digital Literacy) การร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา ในการศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิม อาชีพเสริมและอาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น พร้อมการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อแฟรนไชส์ สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น การสนับสนุนช่องทางด้านการตลาดในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในระดับท้องถิ่น ตลาด Modern trade ตลาด E-Commerce ควบคู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต กองทุนทวีสุข กองทุนเงินออมแห่งชาติ เป็นต้น