ตลท.เปิดผลสำรวจ “CEO” บจ.ฟันธงเศรษฐกิจปีนี้โต2-3% เดินหน้าลงทุน-รายได้โต

Categories :

Public : 11/10/2022

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยและบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (CEO Survey: Economic Outlook 2022) ซึ่งรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 25 สิงหาคม - 19 กันยายน 2565

· CEO ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในปี 2565 และเติบโตต่อเนื่องจากในปี 2566 โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% ในปี 2565 และเติบโตที่ระดับ 3% ถึง 4% ในปี 2566 โดยการท่องเที่ยว การส่งออก การฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมัน และความไม่แน่นอนของเสถียรภาพการเมืองโลก เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

· ทิศทางอุตสาหกรรมและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 2565 จะดีขึ้น โดย 66% ของ CEO คาดว่าผลประกอบการ มีแนวโน้มดีขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ และการกลับมาใช้รูปแบบการดำเนินชีวิตปกติ อาทิ ธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นต้น

· 91% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่ารายได้ของปี 2565 จะเติบโต โดย 50% คาดว่ารายได้ในปี 2566 จะเติบโตมากกว่า 10% ซึ่งเกือบครึ่งของจำนวนนี้คาดว่ารายได้จะเติบโตสูงกว่า 30% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

· ด้านการลงทุน 66% ของ CEO คาดว่าจะลงทุนเพิ่มในปี 2565 ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ พบว่า เป็นการวางแผนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเป็นการลงทุนในประเทศ ขณะที่ 44% วางแผนลงทุนในต่างประเทศ โดยแหล่งเงินทุนสำคัญ คือ กำไรสะสมของกิจการ การขอสินเชื่อธนาคาร และการออกหุ้นกู้

· เมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลในการประกอบธุรกิจ พบว่า CEO มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญทั้งราคาวัตถุดิบ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่การเปิดประเทศ CEO มองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการประกอบธุรกิจ

CEO ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้น และจะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% โดยการท่องเที่ยว การส่งออก และการฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน เสถียรภาพการเมืองโลก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพันธมิตร สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในปี 2565 (CEO Survey: Economic Outlook 2022) เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การประกอบธุรกิจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรวบรวมข้อมูลช่วงวันที่ 25 สิงหาคม - 19 กันยายน 2565 มีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 69 บริษัท จาก 22 หมวดธุรกิจ1 รวม 27% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด จากข้อมูล ณ 30 กันยายน 2565

“CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะดีกว่าปี 2564 อย่างชัดเจน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% และเติบโตต่อเนื่องในปี 2566”

· 80% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 ขณะที่มีเพียง 14% คาดว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง (ภาพที่ 1)

· CEO ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นและดีขึ้นในปี 2566 (ภาพที่ 2) โดยในปี 2565 มี 23% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตมากกว่า 3% ขณะที่ 52% คาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ในช่วง 2% ไม่เกิน 3% สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโตที่ระดับ 2.8%

· 82% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 จะเติบโตมากกว่า 3% โดยส่วนใหญ่ (62%) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตในช่วง 3% ถึง 4%

ทั้งนี้ การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และปี 2566 ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ตอบแบบสอบถาม (SET CEO Survey: Economic Outlook) สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่เปิดเผยในรายงาน World Economic Outlook, October 2022: Countering the Cost-of-Living Crisis ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.8% ในปี 2565 และ 3.7% ในปี 2566

ขณะที่การคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.3% ในปี 2565 และ 3.8% ในปี 2566 จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน2 ซึ่งพบว่า CEO คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่คาดการณ์ใกล้เคียงกันในปี 2566 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

CEO คาดว่า เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญ ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก ตลอดจนการฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 เป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน เสถียรภาพการเมืองโลก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

· ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 พบว่า มีความแตกต่างจากปี 2564 อย่างชัดเจน โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ปัจจัยอันดับแรก คือ การท่องเที่ยว (ขยับมาจากอันดับ 4) ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ การส่งออก (ขยับมาจากอันดับ 6) ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย และอันดับที่ 3 ยังคงเป็นปัจจัยเดิมคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ต่างจากปี 2564 ที่ CEO มองว่า นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

· ด้านปัจจัยเสี่ยง “อัตราเงินเฟ้อ” กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2565 ขณะที่ในปี 2564 ไม่มี CEO ที่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเสี่ยง ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ ราคาน้ำมัน / ราคาเชื้อเพลิง (ขยับมาจากอันดับ 8) และอันดับ 3 คือ เสถียรภาพการเมืองโลก (ขยับมาจากอันดับ 9) ซึ่งเปลี่ยนไปจากปี 2564 ที่ CEO มองว่าปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรก ได้แก่ การจัดการการแพร่ระบาดของ COVID-19 การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ และกำลังซื้อภายในประเทศ