วิกฤตหนี้ของเศรษฐกิจเกิดใหม่น่ากังวลแค่ไหน กระทบเสถียรภาพการเงินโลกและไทยอย่างไร

Categories :

Public : 12/28/2022
 

ตลาดตราสารหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่เจอแรงกดดันรุนแรงในปีนี้ จากหนี้สาธารณะสูงท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัวเร็ว สร้างความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินโลกในวงกว้าง

หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นมากใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวเร็ว เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แต่รายได้ภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาหนี้อาจลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตหนี้เป็นวงกว้างได้ โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณวิกฤตหนี้สาธารณะที่รุนแรงขึ้นบ้างแล้วในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา

โดย SCB EIC ได้ประเมินความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMDEs) จาก 3 มิติ คือ 1) เสถียรภาพต่างประเทศ 2) ฐานะทางการคลัง และ 3) ฐานะการเงินภาคเอกชนและความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

เสถียรภาพต่างประเทศของ EMDEs แข็งแกร่งขึ้นกว่าในอดีตมาก ความอ่อนไหวต่อความผันผวนของปัจจัยต่างประเทศ (External factors) มีจำกัด

สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของกลุ่มประเทศ EMDEs ในปี 2021 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.7% ต่อ GDP ปรับลดลงจากระดับสูงสุดประมาณ 50% ในช่วงวิกฤตทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ ความต้องการเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นยังมีน้อย สถานะเงินสำรองระหว่างประเทศเข้มแข็งขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อ GDP และต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นในปัจจุบันสูงกว่าช่วงวิกฤตหนี้ปลายทศวรรษ 1990 มาก สะท้อนว่าเสถียรภาพต่างประเทศของ EMDEs แข็งแกร่งขึ้น

ฐานะการคลังของรัฐบาล EMDEs ส่วนใหญ่ไม่เปราะบางต่อภาวะการเงินโลกตึงตัวเร็ว

หนี้รัฐบาลส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว ความเสี่ยงการต่ออายุหนี้จึงมีจำกัด นอกจากนี้ ความต้องการกู้ยืมของรัฐบาล (ซึ่งเป็นผลรวมของการขาดดุลงบประมาณปีนั้น ๆ และหนี้ที่จะครบกำหนดใน 12 เดือนข้างหน้า) ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 15% ของ GDP อีกทั้งฐานะการคลัง (Fiscal position) ของรัฐบาล EMDEs ส่วนใหญ่ยังเข้มแข็ง สะท้อนจากประเทศ EMDEs ที่ขาดดุลการคลังเกินเกณฑ์ 3% ของ GDP และมีหนี้รัฐบาลเกิน 80% ของ GDP ส่วนมากเป็นประเทศขนาดเล็กและมีความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลกน้อย

ฐานะการเงินภาคธุรกิจของ EMDEs ยังเข้มแข็งและความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ภาคเอกชนมีจำกัด

สัดส่วนหนี้ของบริษัทอันดับ Speculative ที่จะครบกำหนดอายุภายใน 1-2 ปีข้างหน้ามีน้อย คิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของหนี้ทั้งหมด สภาพคล่องของบริษัทมีอยู่สูงใกล้ระดับ Pre-pandemic พิจารณาจาก 1) การถือครองเงินสดโดยเฉลี่ยของบริษัทอันดับ Speculative ที่ยังอยู่ในระดับสูง และ 2) สัดส่วนการใช้วงเงินสินเชื่อ Revolving credit facility ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับการใช้วงเงินสินเชื่อในช่วง Pandemic ในปี 2020 จึงสะท้อนว่า ภาพรวมของฐานะการเงินบริษัทฯ ในปัจจุบันแข็งแกร่งเพียงพอ

จากการประเมินความเสี่ยงใน 3 มิติ พบว่า ในกรณีฐาน แม้ความกังวลต่อวิกฤตหนี้ EMDEs จะสูงขึ้น แต่จะไม่ลุกลามรุนแรงเป็นวงกว้างสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินในระยะข้างหน้า

เนื่องจากเสถียรภาพต่างประเทศส่วนใหญ่ปรับดีขึ้น ฐานะทางการคลังไม่น่ากังวล และฐานะการเงินภาคธุรกิจยังเข้มแข็ง อีกทั้ง วิกฤตหนี้ที่เริ่มเกิดขึ้นในปัจจุบันยังกระจุกตัวในกลุ่มประเทศเล็กที่มีฐานะการเงินเปราะบางมากอยู่แล้ว กล่าวคือ มีเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจผิดพลาด เช่น กานา, ศรีลังกา, ปากีสถาน, ตูนิเซีย, รัสเซีย, กรีซ และ อียิปต์ จึงทำให้มีผลกระทบต่อภาพรวมกลุ่ม EMDEs ค่อนข้างจำกัด

ในกรณีเศรษฐกิจโลกถดถอยเงินเฟ้อสูง (Global stagflation) และกรณีผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ (Widespread default) การผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจในกลุ่ม High-yield จะสูงขึ้นมาก

หากเศรษฐกิจโลกถดถอยพร้อมเงินเฟ้อเร่งตัวแรงและนานกว่าที่คาดไว้ เกิดภาวะ Stagflation ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องในปีหน้า ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลง อีกทั้งเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นบางช่วง ทำให้ปัญหาอุปทานคอขวดกลับมารุนแรงขึ้น EIC ประเมินว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในกลุ่ม High-yield ปี 2023 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 15% จากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่ลดลงท่ามกลางดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่หากเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลกปะทุขึ้น จนทำให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจเกิดเร็วขึ้น บริษัทอสังหาฯ จีนขนาดใหญ่ล้มละลายSCB EIC ประเมินว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในกลุ่ม High-yield ปี 2023 จะอยู่ที่ราว 20-30% โดยภาคธุรกิจจีนที่เป็น Non-investment grade มากกว่าครึ่งอาจผิดนัดชำระหนี้ ส่วนธุรกิจในกลุ่มประเทศ EMDEs ที่มีความเสี่ยงสูงจะผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้างจากปัญหา supply chain disruption

ผลกระทบวิกฤตหนี้ EMDEs ต่อไทยมีจำกัด เพราะไทยมีความเข้มแข็งทั้ง 3 มิติ

เนื่องจาก 1) ไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศแข็งแกร่ง เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง 2) ความเปราะบางทางการคลังในระยะสั้นมีน้อย การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะต่ำกว่าเกณฑ์ที่น่ากังวล และหนี้สาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว ส่งผลให้ความเสี่ยงในการต่ออายุหนี้ระยะสั้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นมีน้อย และ 3) ฐานะการเงินของภาคธุรกิจเข้มแข็ง หนี้ต่างประเทศของภาคธุรกิจคิดเป็น 20% ของ GDP เท่านั้น และภาคธุรกิจไทยส่วนใหญ่มีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ดี

สำหรับกรณี Global recession เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบบางส่วน

โดยการส่งออกจะหดตัวเล็กน้อย GDP จะขยายตัวเพียง 1%YOY ภาวะการเงินไทยตึงตัวมากขึ้น กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องจากสิ้นปี 2022 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้านต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังกระจุกตัวในธุรกิจเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจขนส่งและคมนาคม ธุรกิจชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสค์ไดรฟ์ และธุรกิจยานยนตร์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ดี เสถียรภาพต่างประเทศของไทยจะยังไม่อ่อนแอลงมาก

สำหรับกรณี Widespread default เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรง

GDP จะหดตัว -0.9%YOY การส่งออกจะหดตัวมากขึ้น ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวจากปี 2022 เพียงเล็กน้อย ภาวะการเงินไทยตึงตัวมาก นักลงทุน risk-off ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทยมากขึ้น เงินบาทอ่อนค่าแรงและมากกว่าปีก่อน จะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของไทย เสถียรภาพการเงินไทยจะอ่อนแอลงอย่างมากเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการคลังและภาคต่างประเทศ ส่งผลให้ไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ Baa1 (จัดอันดับโดย Moody’s) และ BBB+ (จัดอันดับโดย S&P)