กกร.ปรับเป้าจีดีพีปีนี้เป็น 3-3.5% คาดน้ำท่วมทำเสียหาย 1 หมื่น้านบาท

Categories :

Public : 10/05/2022

กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยรับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด แม้เจอแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และ อาจกระทบการส่งออก พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้มาอยู่ที่ 3% ถึง 3.5% จากเดิมเมื่อเดือนก.ย.65 ที่คาด 2.75-3.5% ด้านส่งออกคาดว่าขยายตัวได้ในกรอบ 7-8% จากเดิม 6-8% และ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 6-6.5% จากเดิม 5.5-7% ประเมินน้ำท่วมสร้างความเสียหายรวมทั้งประเทศ 5,000 – 10,000 ล้านบาท

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ เปิดเผยในงานแถลงข่าว การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนมากกว่าที่คาดจากผลกระทบของสงคราม และ ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะปัญหาจากการโจมตีท่อส่ง และ การระงับส่งก๊าซของรัสเซีย ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานและ ความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาการขาดแคลนพลังงาน และ การล็อกดาวน์

  ในขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ Fed ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ภาพอุปสงค์ของโลกมีการชะลอตัวลง

  สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป

  ทางด้านภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าคาด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.17 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 - 10 ล้านคน ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงานส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศให้ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และ ความเสี่ยงต่อรายได้ภาคเกษตรจากภาวะน้ำท่วม

  สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความห่วงใยในพื้นที่โซนเมืองในหลายจังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่ภาคการเกษตรได้ผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าวแต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการ ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านอุทกภัยได้คาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศ ประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท

  อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และ อาจกระทบการส่งออก โดยที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 มาอยู่ที่ 3% ถึง 3.5% จากเดิมเมื่อเดือนก.ย.65 ที่คาด 2.75-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่าขยายตัวได้ในกรอบ 7% ถึง 8% จากเดิมในเดือนก.ย. 65 คาด 6-8% และ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6% ถึง 6.5% จากเดิมในเดือนก.ย. 65 คาด 5.5-7%

  ทั้งนี้ กกร. ได้มีการหารือถึงประเด็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อน Competitiveness เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่นและแข่งขันได้ โดย กกร. จะมีการหารือกับภาคเอกชนโดยจะเชิญ CEO จากแต่ละกลุ่มธุรกิจร่วมกันหารือ เพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า พร้อมกับสร้างแนวทางความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้มีประเด็นหารือเพิ่มเติม ดังนี้

  1. การหารือเรื่องข้อคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เรื่อง การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ตามหมวด 4 โดยเสนอให้พิจารณาเลื่อนระยะเวลาในการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ หรือหากต้องเรียกเก็บให้ใช้อัตราค่าใช้น้ำเดิมที่ มธ. ได้ใช้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นรอบปัจฉิม ควรระบุเงื่อนไขการเรียกเก็บให้ชัดเจน เช่น การรับน้ำจากผู้สูบจ่ายหรือปรับปรุงคุณภาพน้ำ ผู้ที่รับน้ำไม่ควรชำระค่าน้ำซ้ำซ้อน และการใช้ที่ดินหรืองบประมาณของภาคเอกชนในการสร้างแหล่งเก็บน้ำ ไม่ควรต้องชำระเงินค่าน้ำให้กับภาครัฐ และกรณีที่ใช้น้ำเพื่อกิจกรรม CSR ให้กับภาคเกษตรและชุมชน หรือทำการเก็บกักน้ำในที่ดินเอกชนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัย ควรยกเว้น หรือได้รับการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ

  2. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามปฏิญญา (MOU) จัดการศึกษาในหลักสูตร Higher Education Sandbox เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ตรงกับความต้องการและมีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง พัฒนากำลังคนและการสร้างความเป็นเลิศที่มีสมรรถนะสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ และเพื่อตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในด้านนี้

  สำหรับการเป็นเจ้าภาพ APEC ในช่วงปลายปีของประเทศไทย ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการจัดประชุมให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในส่วน กกร. ที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ABAC 2022 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2565 และการประชุม APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel, Bangkok โดยยืนยันความพร้อมในทุกมิติ และจะมีการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าให้รับทราบเป็นระยะต่อไป