ThaiBMA  คาดปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้ทำสถิติสูงสุด 1.3ล้านล้านเร่งออก หนีดอกเบี้ยขาขึ้น

Categories :

Public : 10/10/2022

 ThaiBMA  คาดปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้ทำสถิติสูงสุด 1.3ล้านล้านเร่งออก หนีดอกเบี้ยขาขึ้น

 - เฟดขึ้นดอกเบี้ย-บาทอ่อน ทำเงินทุนเคลื่อนย้ายแต่ไม่น่ากังวลรับมือได้เหตุต่างชาติถือบอนด์อายุยาวยอดถือครองสุทธิ 9.8แสนล้าน

-ไม่ห่วงภาวะผิดนัดชำระหนี้แม้ต่างประเทศเริ่มเกิดหลังศก.ถดถอยเหตุประเทศไทยศก.ฟื้นตัวดี -ผิดจากภาวะโควิด19เริ่มเห็นสัญญาณชำระดีขึ้น

  นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่าเปิดเผยว่า การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว หรือ “หุ้นกู้” ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 65) มีมูลค่า 997,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็น 96% ของมูลค่าการออกในปีที่แล้วทั้งปี โดยโตขึ้นมาเกือบทุกเรตติ้ง ตั้งแต่ AA, A, BBB ไปจนถึง High Yield และพบว่าการเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไป (PO) ขยายตัวมากขึ้น หรือมีสัดส่วนเกือบ 30% โดยเฉพาะในรูปแบบของหุ้นกู้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็น 3% จากเดิม 0.6% ในปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้ดิจิทัลบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 10 รุ่น ยอดออกรวม 31,095 ล้านบาท จากจำนวน 7 บริษัท ซึ่งเป็นการขยายฐานนักลงทุนรายใหม่ ๆ ให้เข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น และช่วงที่เหลือของปีนี้ยังจะเห็นอีก 2 บริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล ปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนบุคคลในตลาดหุ้นกู้ 36.46% ตามมาด้วยกลุ่มประกันภัย 17.7% รองลงมากองทุนการออม (PVD, กบข.และกองทุนการออมต่าง ๆ) 12.7% ตามมาด้วยสหกรณ์ 12.01% และกองทุนรวมอีก 9.6% ที่เหลือจะเป็นรายย่อย ๆ   โดยแม้ว่าช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีจะมีการออกหุ้นกู้น้อยกว่าไตรมาสอื่น ๆ เพราะเป็นช่วงปลายปี แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ยอดการออกหุ้นกู้จะทำลายสถิติสูงสุด น่าจะเป็นออลไทม์ไฮ (all time high) หรือน่าจะไม่ต่ำกว่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาท เพราะสัดส่วนที่มีการยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต.แล้วไม่ต่ำกว่า 52,000 ล้านบาท และมีส่วนที่ออกหุ้นกู้ทดแทนหุ้นกู้ครบกำหนดเดิม (roll-over) ในไตรมาส 4 ประมาณกว่า 1.3 แสนล้านบาท อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, เซ็นทรัลพัฒนา, โลตัสส์, ไทยเบฟเวอเรจ, ทีพีไอโพลีน เป็นต้น   “ปีนี้เป็นปีที่กลุ่มพลังงานออกหุ้นกู้เยอะมาก ทั้งเครือ ปตท.มาหมดเลย หลัก ๆ อาจจะไปรีไฟแนนซ์เงินกู้สถาบันการเงิน โดยฉวยจังหวะในการล็อกต้นทุนดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งพบว่ามียอดออกหุ้นกู้เป็นอันดับ 1 สัดส่วน 23% ตามาด้วยอันดับ 2 กลุ่มอสังหาฯ 14% อันดับ 3 ปิโตรเคมี 13% อันดับ 4 ไฟแนนซ์ 13% และอันดับ 5 ไอซีที 9%” นางสาวอริยากล่าว   “   ตอนนี้เริ่มเห็นปรากฏการณ์ยอดออกขายหุ้นกู้ใหม่ในบางบริษัทที่อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงมากเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ ที่นักลงทุนเริ่มชะลอซื้อเพื่อรอหุ้นกู้ลอตใหม่ที่จะได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นแต่ว่าในขณะเดียวกัน บริษัทใหญ่ ๆ อีกจำนวนมากที่มีความมั่นคงสูง ชื่อเสียงดี ยังขายหุ้นกู้หมดตามไฟลิ่งที่ยื่นไว้กับทาง ก.ล.ต.ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากยังมีนักลงทุนอีกหลายรายที่มองว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการออกสม่ำเสมอหรือไม่สำหรับบริษัทที่สนใจอยากลงทุน จึงสนใจจับจองซื้อหมดอยู่ดี โดยไม่รอดอกเบี้ยขยับขึ้นในช่วงที่เหลือของปี “   สำหรับโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นกลุ่มที่ใช้ประโยชน์กับตลาดทุนค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ ก็จะมีส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit Spread) ที่สูงกว่าหุ้นกู้กลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4/65 จะมีหุ้นกู้อสังหาฯครบกำหนดประมาณ 29,000 ล้านบาท และในปี 2566 ครบดีลอีกราว 1.2 แสนล้านบาท   ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยถือว่าเติบโตต่อเนื่อง แม้จะถูกกดดันจากการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 15.67 ล้านล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและภาคเอกชน แม้ว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมูลค่าลดลงก็ตาม ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3/65 จากการที่เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงขยับตัวสูงขึ้นต่อ ทำให้บอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 2 ปี และ10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 123 bps. และ 132 bps. จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.88% และ 3.21% ณ สิ้นเดือน ก.ย.   ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3 จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ส่งผลให้การออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ย 32 pbs. จากเมื่อสิ้นไตรมาส 2 โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 หุ้นกู้อายุ 5 ปี อันดับเครดิต AAA มีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.35%, AA ที่ 3.68%, A ที่ 3.89%, BBB+ ที่ 5.03% และ BBB ที่ 5.98%   และกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในเดือน ก.ค. นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ภายหลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ก่อนจะกลับเข้าซื้อสุทธิเล็กน้อยในเดือน ส.ค. แต่เมื่อเริ่มมีความชัดเจนในเดือน ก.ย. ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการขายตราสารหนี้ไทยตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.   ทำให้ในไตรมาส 3 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/65 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 3.25 หมื่นล้านบาท มียอดการถือครองตราสารหนี้ไทย 9.89 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 8.5 ปี   ไม่ห่วงสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้   นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แม้ความกังวลในช่วงเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับ หรือมีแนวโน้มจะแย่จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จึงห่วงว่า   บริษัทต่าง ๆ อาจจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น แต่ทางสมาคมฯเห็นบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ของไทยจะใช้วิธีการไปพูดคุยกับทางเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดชำระหนี้หุ้นกู้ออกไป ทั้งโดยที่มีการขอจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม หรือไม่จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มก็ตาม   โดยทางสมาคมฯจะขึ้นเครื่องหมายหุ้นกู้ลักษณะนี้ว่า Restructure : RS แต่การจะขึ้นเครื่องหมายได้จะต้องขอมติอนุมัติไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 จากผู้ถือหุ้นกู้ก่อน และผู้ถือหุ้นกู้เองจะต้องพิจารณาว่าบริษัทอาจจะไม่ได้มีเจตนาเบี้ยวหนี้ แต่ด้วยผลกระทบโควิด-19 ที่กระทบกระแสเงินสดของกิจการไม่เหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นหลายบริษัทที่ยืดชำระหนี้ออกไปก็กลับมาจ่ายคืนได้หมด จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน   ส่วนหุ้นกู้ที่มีผิดนัดชำระหนี้จริงทางสมาคมฯจะขึ้นเครื่องหมายหุ้นกู้ลักษณะนี้ว่า Default Payment : DP ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีปัญหาจริง ๆ ในเรื่องของการบริหารกิจการ     7 บริษัท “ผิดนัดชำระหนี้” มูลค่ารวม 13,767 ล้านบาท   ThaiBMA ระบุว่าการผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) ว่าจนถึงวันที่ 10 ต.ค.65 มีอยู่ทั้งหมด 7 บริษัท จำนวน 16 รุ่น มูลค่า 13,767.3 ล้านบาท ประกอบด้วย   1.บริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้รวม 800 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้าง 765 ล้านบาท โดยได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ APEX202A เมื่อวันที่ 30 พ.ค.65 เป็นเหตุให้หุ้นกู้ถึงกำหนดชำระโดยพลัน และทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองหลักประกันของบริษัทฯ ซึ่งได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ 19 ส.ค.65 ปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถชำระค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระ   ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.65 บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้มอบหมายทนายความฟ้องร้องบริษัทฯ (ผู้ออกหุ้นกู้และผู้จำนอง) ในฐานผิดสัญญา หุ้นกู้ จำนอง เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องและบังคับจำนอง เพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้ค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย โดยได้ยื่นฟ้องเป็นคดี ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามประทับรับฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขคดีดำที่ พE515/2565 ซึ่งศาลได้นัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทในวันที่ 31 ต.ค.65 เวลา 13.00 น.   ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาเงินจากแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ และภายนอกประเทศ เพื่อนำมาชำระหนี้หุ้นกู้ พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดที่ค้างชำระ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถตกลงเรื่องเงินกู้ Refinance นี้กับผู้ให้กู้ และบริษัทจะประสานงานความคืบหน้ากับทางตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อไป   2.บริษัท แอดวานซ์ เพาวเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้รวม 160 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้าง 128 ล้านบาท โดยในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 (APCON20NA) ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2565 ได้ชำระดอกเบี้ยงวดครบกำหนด ณ วันที่ 9 พ.ค.65 และดอกเบี้ยงวดครบกำหนด ณ วันที่ 9 ส.ค.65 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่   19 ส.ค.65 ส่วนเงินต้นหุ้นกู้ APCON20NA จำนวน 128 ล้านบาท บริษัทมีกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 9 พ.ย.65   3.บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้รวม 2,675.3 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้างเต็มจำนวน โดยรายงานความคืบหน้าของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ได้มีการเลื่อนนัดไต่สวนจากเดิมวันที่ 19 ม.ค.65 เป็นวันที่ 8 ก.ค.65 โดยเป็นการนัดต่อเนื่องรวม 18 นัด วันสุดท้ายของการไต่สวนคือวันที่ 4 ส.ค.65 บริษัทได้มีการประชุมหารือแนวทางการชำระหนี้หุ้นกู้ผ่านตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ 4 ครั้ง และจัดประชุมร่วมกับผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่น 1 ครั้ง   ผลของการหารือแนวทางการชำระหนี้มีความคืบหน้าไปได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ยังมีเงื่อนไขการชำระหนี้บางประเด็นยังอยู่ในระหว่างการหารือ ซึ่งทางบริษัทได้รับในหลักการของข้อเสนอในที่ประชุมเพื่อไปตกลงเจรจาในรายละเอียดระหว่างขั้นตอนของการทำแผนฟื้นฟูต่อไป   โดยปัจจุบันบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้รวมทั้งมด 7 รุ่น ประกอบด้วย 1.ACAP202A 2.ACAP207A 3.ACAP209A 4.ACAP19OA 5.ACAP2NA 6.ACAP212A และ 7.ACAP213A   4.บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้ 2 รุ่นและตั๋วแลกเงิน 2 รุ่น รวมวงเงิน 5,750 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้างเต็มจำนวน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2560-2562   5.บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั้น จำกัด (มหาชน) มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้รวม 3,000 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้างเต็มจำนวน   6.บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้รวม 1,219 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้างเต็มจำนวน โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค.65 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีการจัดประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ตามมาตรา 90/46 และมาตรา 90/48 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)   7.บริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) มีปริมาณยอดออกหุ้นกู้รวม 230 ล้านบาท มีมูลหนี้คงค้างเต็มจำนวน โดยหุ้นกู้ของบริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3/2558 (RICH17OA) ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2560   หมายเหตุ : Default Payment คือ 1. ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ 2.ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย เนื่องจากอยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic stay) และ 3. สมาคมฯได้รับแจ้งจากผู้ออกตราสารหนี้ หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ว่ามีเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงเหตุผิดนัดเนื่องจาก Cross default